รีวิว Garmin Fenix 5 ที่สุดของนาฬิกา Multi-sport รองรับทุกไลฟ์สไตล์

รีวิว Garmin Fenix 5

รีวิว Garmin fenix 5 เรียกได้ว่า เป็นนาฬิกา Multi-Sport ตัวท็อปสุดของ Garmin ประจำปี 2017 เพราะอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุด และประสิทธิภาพครบถ้วนรอบด้าน

ในบรรดานาฬิกา GPS แบบ Multi-Sport สำหรับการออกกำลังกาย Garmin fenix ถือว่าเป็นซีรี่ย์รุ่นระดับเรือธงของการ์มิน ที่จะโดดเด่นเป็นพิเศษเรื่องของฟีเจอร์ความสามารถต่างๆ ที่อัพเดทใหม่ล่าสุด รวมถึงการออกแบบและใช้วัสดุที่ดีเยี่ยม มีการพัฒนาต่อเนื่องมาหลายรุ่น ตั้งแต่ fenix, fenix 2, fenix 3, fenix 3 HR จนถึงปัจจุบันการ์มินได้ออกเจ้านกไฟรุ่นล่าสุด Garmin fenix 5 (อ้าว! แล้ว fenix 4 หายไปไหน?) สำหรับรุ่นที่ 5 ถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้านี้หลายอย่าง โดยปรับปรุงข้อด้อยหลายอย่างที่เคยมีให้หมดไป และมีเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ดีขึ้นไปอีก

Garmin fenix 5 ออกมาให้เลือกได้ 3 รุ่น 3 ขนาด!

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างแรกในนกไฟรุ่นที่ 5 นี้ก็คือ มีรุ่นย่อยแยกออกมาพร้อมกันถึง 3 รุ่น คือ fenix 5, fenix 5s และ fenix 5x โดยความแตกต่างกันนั้นอย่างแรกเลยก็คือเรื่องของขนาดตัวเรือน ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า fenix รุ่นก่อนหน้านี้มีขนาดตัวเรือนและน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงเป็นอุปสรรคสำหรับสาวๆ หรือคนที่ข้อมือเล็ก งานนี้การ์มินเลยจัดให้แยก 3 ขนาด เลือกได้ตามใจชอบ

Garmin fenix 5s

น้องเล็กสุดด้วยขนาดตัวเรือนขนาด 42 มม. หนา 14.5 มม.ตัวสายจะเป็นขนาด 20 มม. น้ำหนักตัวเรือนพร้อมสายแบบซิลิโคนอยู่ท่ 67 กรัม เรียกได้ว่าเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะ เพราะถ้าเทียบกับ fenix 3 แล้วมีขนาดเล็กลงมาเกือบ 30% เลยทีเดียว แถมดีไซน์ตัวเรือนก็ดูไม่แมนมากอีกด้วย

สำหรับ fenix 5s จะมีรุ่นย่อยแยกอีก 2 รุ่นคือ รุ่นมาตรฐานที่ตัวหน้าปัดจะเป็นกระจก mineral และรุ่น Sapphire ตัวกระจกจะเป็นแซฟไฟร์ที่ทนต่อรอยขูดขีด และภายในมีเพิ่มระบบการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ได้ด้วย

Garmin fenix 5

รุ่นมาตรฐานมาด้วยขนาดตัวเรือนหน้าปัด 47 มม. หนา 15.5 มม. สายขนาดกว้าง 22 มม. น้ำหนักพร้อมสายซิลิโคนอยู่ที่ 85 กรัม ซึ่งจะมีรุ่นแยก 2 รุ่นเหมือนกับ feniz 5s คือรุ่นกระจก mineral และแบบ Sapphire + Wi-Fi ให้เลือก

Garmin fenix 5x

รุ่นจัดเต็มตัวท็อปของตระกูล มาด้วยขนาดและน้ำหนักเท่าๆ กับ fenix 3 HR หน้าปัดใหญ่ถึง 51 มม. ตัวเรือนหนา 17.5 มม. น้ำหนักพร้อมสายซิลิโคนอยู่ที่ 98 กรัม ตัวสายความกว้าง 26 มม. สำหรับ 5x จะมีเฉพาะรุ่น Sapphire อย่างเดียว

แต่สำหรับ 5x แล้วนอกจากจะมีขนาดใหญ่สุดแล้ว ยังมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมาคือมีหน่วยความจำในเครื่องมาให้ 16GB สำหรับลงแผนที่ในตัวเรือนได้ พร้อมทั้งแสดงผลแผนที่บนหน้าจอได้เลย เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางในการเดินทางได้ แถมยังสามารถใช้คำสั่งหาเส้นทางวิ่งออกกำลังกายให้อัตโนมัติตามที่ต้องการได้อีกด้วย

แกะกล่อง รีวิว Garmin fenix 5

สำหรับตัวที่ผมจะเอามารีวิวกันในครั้งนี้จะเป็น Garmin fenix 5 รุ่น Sapphire คือตอนแรกก็ลังเลอยู่ว่าจะซื้อเป็นตัวธรรมดาหรือว่าเป็นแซฟไฟร์ไปเลย สุดท้ายก็เลือกแซฟไฟร์ เพราะไม่อยากมาวุ่นวายแปะกระจกกันรอยหน้าจอ ที่มักจะร่อนแตกง่ายมาก ตัวกล่องแพ็กเกจเป็นทรง 4 เหลี่ยมลูกบาศก์แกะออกมาจะเจอกับตัวเรือนแปะสติกเกอร์กันรอยเอาไว้ หยิบออกมาด้านในจะมีของมาให้อีกเป็นสายชาร์จแบบเสียบ USB พร้อมคู่มือการใช้งานเบื้องต้น 1 เล่ม และสติกเกอร์เก๋ๆ ให้อีก 3 แผ่น แค่นี้ล่ะ เรียกได้ว่ามินิมอลสุดๆ ไม่มีอะไรเยอะแยะให้ยุ่งยาก ว่าแล้วก็มาดูกันที่ตัวเรือนเลย

รีวิว Garmin Fenix 5

รีวิว Garmin Fenix 5

ส่องรอบเครื่อง

ตัวเรือนของ Garmin fenix 5 จะดีไซน์แนวนาฬิกาที่ดูสปอร์ตลุยๆ ตัวเรือนเป็นสีดำทั้งเรือน วัสดุตัวเรือนนั้นจะใช้เป็นสแตนเลสสตีล เคสรอบหน้าปัดจะวัสดุเป็น fiber-reinforced polymer กระจกหน้าปัด อย่างที่บอกไปตอนแรกจะมีให้เลือก 2 รุ่นคือกระจกธรรมดาที่เป็น mineral และแบบที่เป็น sapphire crystal ที่มีความทนทานต่อรอยขูดขีดต่างๆ มากกว่า อันนี้เลือกได้กันตามใจชอบ

ตัวเรือนหน้าปัดเป็นแบบทรงกลม สำหรับในรุ่น fenix 5 และ 5x จะมีขนาด 1.2 นิ้ว (ความละเอียด 240 x 240 พิกเซล) ส่วนรุ่น 5s จะขนาด 1.1 นิ้ว (ความละเอียด 218 x 218 พิกเซล) จุดเด่นตัวหน้าจอนาฬิกาของ Garmin ทุกรุ่นก็คือจะใช้เป็นจอสีแบบ transflective memory-in-pixel (MIP) ที่มีคุณสมบัติคือสามารถมองเห็นได้ชัดในที่สว่างและกลางแจ้ง ต่างจากนาฬิกาสมาร์ทวอทช์รุ่นอื่นๆ ที่ใช้เป็นแบบ OLED ที่แม้ว่าอาจจะให้สีที่สวยสดกว่าแต่ก็กินพลังงานมาก ทางการ์มินเน้นในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งานเพื่อออกกำลังกายมากกว่าจึงเลือกใช้หน้าจอแบบนี้แทน

หน้าจอของ fenix 5 นั้นเป็นจอแบบธรรมดาที่ไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมผ่านการสัมผัสหน้าจอ (touchscreen) การควบคุมต่างๆ จะสั่งผ่านทางปุ่มที่อยู่ด้านข้างรอบเครื่องที่มีทั้งหมด 5 ปุ่มด้วยกันคือ (ไล่จากทางขวาวนตามเข็มนาฬิกา) ปุ่มแรกเป็นปุ่ม OK ที่ใช้ตอบตกลงยืนยันเลือกคำสั่ง และเรียกเมนูในการบันทึก Activity ต่างๆ ต่อมาเป็นปุ่ม Back สำหรับย้อนหลังกลับไปเมนูก่อนหน้า ต่อมาเป็นปุ่มเลื่อนขึ้นลงในการเลือกคำสั่ง สำหรับปุ่มเลื่อน Up นั้นถ้ากดค้างไว้จะเป็นการเรียกเมนูคำสั่งหลัก และปุ่มสุดท้ยทางซ้ายบนจะเป็นปุ่มเปิดไฟ backlit เพื่อดูในที่มืด ถ้ากดค้างก็จะเรียก Shortcut เมนูควบคุมเสริมขึ้นมา

พลิกมาด้านหลังของเครื่อง จะมีระบุรุ่นของเครื่อง พร้อมบอกว่าตัวเรือนสามารถกันน้ำได้ถึง 100 เมตร ตามมาตรฐาน 10ATM รองรับการใช้งานกิจกรรมกีฬาทางน้ำได้ทุกประเภท ตรงกลางจะเป็นเซนเซอร์แสงสำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบไฟ 3 ดวง

รีวิว Garmin Fenix 5

ตัวสายนาฬิกาเป็นแบบ QuickFit ที่การ์มินออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนสายได้ง่ายกว่าเดิม ที่แต่ก่อนนั้นเป็นแบบต้องเอาไขควงมาขันน็อตถอดออก ซึ่งยุ่งยากมาก แต่พอมาเป็นแบบ QuickFit แล้ว เพียงแค่ดันสลักด้านหลังของสายก็ถอดสายออกได้แล้ว คราวนี้ใครอยากจะใส่สายแบบซิลิโคนเวลาวิ่ง แต่อยากเปลี่ยนเป็นสายเหล็กสำหรับวันทำงานเท่ๆ ก็ทำได้สบายๆ 

รีวิว Garmin Fenix 5

โดยรวมแล้วเรื่องของการดีไซน์ของ Garmin fenix 5 ถือว่าสวยงามลงตัวตามสไตล์เดิมอย่างมีเอกลักษณ์ ส่วนตัวผมชอบกับขนาดและน้ำหนักของมันที่ลดลงจากตอน fenix 3 HR ลงไปพอสมควร ทำให้ใส่แล้วไม่รู้สึกหนักข้อมือจนเกินไป และสวมได้ทั้งวันแบบไม่ค่อยรู้สึกรำคาญ

แบตเตอรี่ที่อึดถึกทน

จุดเด่นอีกอย่างสำหรับนาฬิกาออกกำลังกายของการ์มินก็คือ แบตเตอรี่ที่ชาร์จครั้งนึงเต็มๆ สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานและสำหรับ fenix 5 นั้น ตามสเปคแล้วระบุว่าแบตเตอรี่เต็ม 100% สามารถอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ แล้วเปิดในโหมด GPS พร้อม Heart rate ต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง และในโหมด UltraTrac ได้มากถึง 60 ชั่วโมง (ไม่เปิดใช้ HR)

เมื่อเราได้ทดสอบลองใช้จริง ก็พบว่าอันนี้ไม่ใช่ราคาคุย จากการลองใช้งานสวมตลอดเวลา มีใช้โหมดกิจกรรมวิ่งและปั่นจักรยานรวมกันแล้วประมาณ 5 ชั่วโมง ปรากฎว่าแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้นานถึง 10 วันโดยที่แบตเหลืออยู่อีก 10% เรียกได้ว่านานๆ ชาร์จทีแล้วใช้ยาวไปเลย พร้อมไปกับคุณได้ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะปั่นจักรยานทางไกลระดับ Audax , วิ่งมาราธอนนี่สบายๆ ใช้ได้ยัน Ultra Marathon หรือจะเดินป่า วิ่งเทรล ลุยไตรกีฬาสบายๆ ไม่ต้องกลัวแบตเตอรี่หมดระหว่างกิจกรรม

รีวิว Garmin Fenix 5

เชื่อมต่อเซนเซอร์ต่างๆ ผ่าน ANT+ และ Bluetooth

ถึงแม้ว่าในตัวของ Garmin fenix 5 จะมีเซนเซอร์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวระบุพิกัดดาวเทียมทั้งแบบ GPS และ GLONASS, เซนเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบแสงที่ข้อมือ, Barometric altimeter สำหรับวัดความกดอาการและความสูง, เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์, Gyroscope, Accelerometer และเทอร์โมมิเตอร์ แต่นี่อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับคนที่ต้องการเก็บข้อมูลในการออกกำลังกายแบบละเอียดถึงขั้นสุด การ์มินยังเปิดให้เราสามารถเชื่อมต่อเซนเซอร์อื่นๆ แบบไร้สายผ่านมาตรฐาน ANT+ และ Bluetooth ได้ด้วย

ถ้าสำหรับการปั่นจักรยาน เราสามารถต่อกับเซนเซอร์วัดความเร็วและรอบขา (Speed & Cadence) แบบ ANT+ หรือจะเป็นแบบ Bluetooth ก็มีเอามาใช้ด้วยได้เช่นกัน ส่วนการวิ่งเราจะต่อกับตัวเซนเซอร์วัดอัตราการเต้นแบบคาดอกก็ได้ ที่การ์มินมีรุ่น HRM-Run สำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ ส่วนการว่ายน้ำและไตรกีฬาก็มี HRM Swim และ HRM Tri มาพ่วงต่อใช้ได้เช่นกัน

Heart Rate Monitor แบบใหม่

ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจแบบแสง LED ด้านล่างตัวเรือน มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้านี้ ตรงที่ดวงไฟนั้นไม่นูนออกมาจากตัวเรือน ทำให้เวลาที่สวมใส่ไม่กดทับจนเกิดเป็นรอยที่ข้อมือ และในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจนั้น fenix 5 ยังสามารถส่งสัญญาณที่วัดได้ไปให้กับอุปกรณ์อื่นอย่าง Garmin edge ได้อีกด้วยในรูปแบบของ Broadcast ถือว่าสะดวกสบายสำหรับคนที่ไม่ชอบใช้ HRM แบบรัดหน้าอกที่บางครั้งใส่แล้วอึดอัดน่ารำคาญ

รีวิว Garmin Fenix 5

รองรับกิจกรรมและกีฬาได้สารพัดอย่าง

อย่างที่บอกไปว่า Garmin fenix 5 เป็นนาฬิกา GPS แบบ Multi-sport ที่รองรับในการใช้งานกับการออกกำลังกายได้หลายแบบ และนี่คือกีฬาต่างๆ ที่สามารถใช้งานร่วมด้วยได้

  • วิ่ง รองรับทั้งวิ่งกลางแจ้ง, วิ่งในร่ม, บน treadmill, วิ่งเทรล
  • ปั่นจักรยาน มีได้ทั้งการปั่นกลางแจ้งและปั่นเทรนเนอร์ในบ้าน, ปั่นเสือภูเขา
  • ว่ายน้ำ เลือกได้ทั้งว่ายในสระ หรือว่ายแบบ open water
  • ตีกอล์ฟ ที่เอาไว้ใช้ได้ทั้งบันทึกการออกกำลังกาย มีโหมด TruSwing สำหรับเก็บข้อมูลวงสวิง และยังโหลดข้อมูลสนามกอล์ฟมาใช้ระหว่างออกรอบได้ด้วย
  • Triathlon รองรับการใช้สำหรับเล่นไตรกีฬา และทวิกีฬา (ว่ายน้ำ+วิ่ง) เราเลือกกำหนดลำดับกีฬาและกดเพื่อบันทึกระหว่างเปลี่ยน Transition ได้
  • Training การออกกำลังกายที่เลือกแบบ Strength, Cardio ฯลฯ
  • อื่นๆ มีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ให้เลือกได้ อาทิ เล่นสกี, สโนว์บอร์ด, พายเรือ, เดินป่า, ปีนเขา ไปจนถึงกระโดดร่ม หรือว่าถ้าอยากจะสร้าง Activity ของเราเองก็เลือกสร้างเองก็ยังได้

บอกค่าประสิทธิภาพในการออกกำลังกายได้อย่างละเอียด

เคยมีคำถามจากหลายคนเกี่ยวกับพวกอุปกรณ์นาฬิกาสำหรับเล่นกีฬา ว่ามันมีประโยชน์อะไรหรือถึงต้องหามาใส่เวลาที่ออกกำลังกาย? เราจำเป็นจะต้องบันทึกไปทำไมว่าวิ่งได้ระยะทางเท่าไหร่ จากไหนถึงไหน ปั่นเร็วแค่ไหน ฯลฯ บางคนก็รู้สึกว่าแค่เราออกกำลังกายเฉยๆ ก็พอแล้วไม่ต้องมาสิ้นเปลืองกับอุปกรณ์พวกนี้

ถ้ามองในมุมมองของคนที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง อุปกรณ์พวกนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นอะไร แต่สำหรับคนที่อยากออกกำลังกายแล้วต้องการฝึกฝนให้ทำสถิติได้ดีขึ้น รวมถึง Performance ของร่างกายที่แข็งแกร่งขึ้น การออกกำลังกายแบบตามมีตามเกิดนั้นไม่ช่วยให้เกิดพัฒนาการได้ อุปกรณ์เหล่านี้จึงมีส่วนที่เข้ามาช่วยอ้างอิงผลค่าต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาและการแพทย์ สรุปเป็นคะแนนและค่าเฉลี่ยต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่า การวิ่งหรือปั่นของเรา พัฒนาดีขึ้นหรือได้ผลอย่างไร รวมไปถึงความฟิตของร่างกายอยู่ในระดับไหน

Garmin fenix 5 นั้น นอกจากจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ ระหว่างการออกกำลังกายเพื่อบันทึกเป็นสถิติส่วนตัว ยังมีการวิเคราะห์ค่าที่มีประโยชน์กับการฝึกฝนของผู้ใช้ในระดับสูงอีกหลายอย่าง

รีวิว Garmin Fenix 5

Training Effect

การให้คะแนนที่ประมวลทั้งกิจกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ ฯลฯ ออกมาเป็นคะแนน 2 ด้านคือ Aerobic ที่เป็นการออกกำลังกายที่มีผลกับการเผาผลาญไขมันและลดน้ำหนัก และ Anaerobic ที่เป็นแบบคาดิโอ มีผลในเรื่องของกล้ามเนื้อและความแข็งแกร่งของร่างกาย คะแนนนี้จะให้เป็นเกรดคะแนนเต็ม 5 คะแนน มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการโฟกัสการออกกำลังกายเพื่อหวังผลที่ต้องการ ว่าต้องการจะลดน้ำหนักหรือสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ฝึกฝนและเล่นได้ถูกต้องตามเป้าหมายที่ต้องการ

VO2 max

เป็นค่าที่สำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการวิ่งของตัวเอง ถ้าแปลกันตรงๆ คือ ค่าปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายสามารถรับและนำไปใช้ได้ มีหน่วยเป็น ml/kg/min หรือ มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวต่อนาที ยิ่งค่า VO2 max มากเท่าไหร่ ก็หมายถึงประสิทธิภาพโดยรวมของร่างกายที่ดี

ตามปกติแล้วการวัดค่า VO2 max นั้นจะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และทดสอบกันที่โรงพยาบาล แต่การ์มินได้พัฒนาตัวอุปกรณ์ให้สามารถวัดค่าได้เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกัน นั่นคือทุกครั้งที่คุณใช้ Garmin fenix 5 ใส่วิ่งออกกำลังกาย นาฬิกาจะวัดประเมินผล VO2 max ให้ พร้อมบอกด้วยว่าค่าที่ได้นี่เท่ากับร่างกายอายุเท่าไหร่

Recovery time

มีการประเมินให้หลังจากจบการออกกำลังกายในแต่ละครั้งว่าเราควรที่จะพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย เป็นเวลานานแค่ไหนก่อนที่จะออกกำลังกายในครั้งต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เราฝืนร่างกายจนอาจจะทำให้ได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายที่มากเกินไป

ฟีเจอร์สำหรับการปั่นจักรยาน

Garmin fenix 5 เป็นนาฬิกาที่สวมข้อมือ แต่ว่าถ้าอยากจะเอาไว้ใช้ปั่นจักรยานก็ไม่ใช่ปัญหา การ์มินมีอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Bike Mount ให้เราสามารถเอาตัวนาฬิกาไปรัดไว้กับตัวแฮนด์เพื่อใข้เป็น Bike Computer แสดงค่าระหว่างการปั่นได้เลย เพราะเราสามารถเชื่อมต่อ ANT+ กับเซนเซอร์ต่างๆ ทั้งตัววัดรอบขา, ความเร็ว และ Power Meter ถ้าให้เทียบแล้วฟีเจอร์อยู่ในระดับเดียวกันกับ Garmin Edge 520 และถ้าเป็น fenix 5x ที่มีระบบนำทางแผนที่มาให้ด้วย ก็เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับ Edge 820 ได้เลย แต่ว่าจะมีข้อด้อยกว่า Edge ตรงที่หน้าจอของ Fenix 5 นั้นเล็กกว่า อาจจะแสดงข้อมูลที่หน้าจอได้ไม่เยอะเท่า รวมถึงเสียงเตือนก็ดังน้อยกว่า อ้อ! และถ้าเอามาใช้ใส่ Bike Mount แล้ว คุณต้องเปลี่ยนมาใช้ตัวเซนเซอร์ HRM แบบคาดอกแทนด้วยนะ

ส่วนฟีเจอร์พื้นฐานต่างๆ มีมาครบถ้วน เราสามารถโหลดคอร์สมาใช้ได้ โหลดโปรแกรมการฝึกฝนแบบ Interval คำนวนค่า FTP (Functional Threshold Power) ให้ได้ (ต้องใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับเพิ่ม) เชื่อมต่อเพื่อควบคุมอุปกรณ์อื่นๆ ของการ์มินอย่างเช่นกล้อง Verb และชุด Varia ที่เป็นเรดาร์ตรวจจับรถที่วิ่งอยู่ข้างๆ รวมถึงใช้ฟีเจอร์ร่วมของ Strava อย่าง Beacon และ live segments ได้ด้วย

ฟีเจอร์สำหรับการวิ่ง

เทคโนโลยีของการ์มินนั้นช่วยให้คุณพัฒนาเรื่องวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่บอกว่าคุณวิ่งได้ไกลแค่ไหน เร็วแค่ไหน ทำ Pace ได้เท่าไหร่ แต่จะมีช่วยดูเรื่องรอบขา, ระยะก้าวขา, จังหวะการลงเท้า (ต้องมีอุปกรณ์เซนเซอร์เพิ่ม) หลายคนวิ่งแทบตายแต่ว่าความเร็วไม่เพิ่มขึ้นเพราะว่าจังหวะและการก้าวที่ไม่ถูกต้อง ค่าเหล่านี้มาช่วยให้คุณนำไปปรับปรุงการวิ่งให้ดียิ่งขึ้นได้

รีวิว Garmin Fenix 5

Activity Tracker เก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน

นอกจากจะเอาไว้เล่นกีฬาแล้ว ตลอดเวลาที่คุณสวม fenix 5 ไว้ จะมีระบบเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันแบบที่สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพทำได้ ทั้งนับก้าวเดิน, ประเมินแคลลอรี่ที่เผาผลาญ, จำนวนการขึ้นชั้นบันได, เก็บวัดคุณภาพการนอนพักผ่อน และยังมีระบบที่เรียกว่า Move IQ ที่บันทึกกิจกรรมการเดิน วิ่ง ปั่นให้อัตโนมัติ (แต่จะไม่เก็บข้อมูลเหมือนเราสั่งบันทึกเอง)

Garmin Connect เชื่อมต่อและทำงานคู่กับสมาร์ทโฟน

หัวใจหลักสำคัญในการใช้งานตัวนาฬิกา fenix 5 คือแอพ Garmin Connect ในสมาร์ทโฟน เพื่อทำการเชื่อมต่อข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของเรามาเก็บและส่งขึ้นไปประมวลเป็นสถิติให้ เราสามารถมาดูกิจกรรมย้อนหลังต่างๆ ดูผลของการออกกำลังกายแต่ละครั้งโดยละเอียดผ่านทางแอพ (หรือจะผ่านหน้าเว็บก็ได้) ในระบบของ Garmin Connect นั้นยังมีคอมมูมิตี้สำหรับเชื่อมต่อกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ใช้อุปกรณ์ของการ์มินเหมือนกัน เพื่อทำการแชร์ข้อมูลการออกกำลังกาย รวมถึงจัด challenge เพื่อแข่งขันกับเพื่อนๆ ได้ด้วย

ในตัวแอพยังมีส่วน IQ Connect ที่เป็นการโหลดส่วนเสริมเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานให้กับนาฬิกา ทั้งเปลี่ยนหน้าปัด, แอพใช้งาน, วิดเจ็ทต่างๆ ฯลฯ ได้ฟรีอีกด้วย

รีวิว Garmin Fenix 5

รองรับภาษาไทย แจ้งเตือนและควบคุมสมาร์ทโฟนผ่านหน้าปัด

และด้วยความที่มันเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ จึงใช้งานเป็นนาฬิกาอัจฉริยะเพื่อแสดงผลแจ้งเตือนในสมาร์ทโฟนมาที่หน้าจอของ fenix 5 ได้ด้วย โดยรองรับแสดงผลภาษาไทยเต็มรูปแบบ อ่านรู้เรื่องไม่เป็นตัวอักษรต่างดาว หรือถ้าหากมีสายโทรเข้าก็สามารถกดรับหรือตัดสาย และยังมีคำสั่งไว้ควบคุมแอพเล่นเพลงในสมาร์ทโฟน สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงระหว่างออกกำลังกาย ก็พกมือถือไว้ในกระเป๋าแล้วกดสั่งเปลี่ยนเพลงจาก fenix 5 ได้เลย

รีวิว Garmin Fenix 5

สรุป รีวิว Garmin fenix 5

ในรุ่นนี้ถือว่าการ์มินพัฒนาหลายๆ อย่างจนมาถึงจุดที่ค่อนข้างลงตัว ทั้งเรื่องของดีไซน์และขนาดเรือนที่มีให้เลือกได้หลายไซส์ ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่เพียงพอและพร้อมสำหรับกีฬาทุกประเภท กีฬาหลักทั้งวิ่ง, ปั่น, ว่ายน้ำ, ไตรกีฬา ฯลฯ มีครบถ้วน ส่วนฟีเจอร์สำหรับการออกกำลังกายอื่นๆ ก็มีการเก็บค่าพร้อมวิเคราะห์ให้อย่างละเอียด ชนิดที่ว่าพอคุณสวม fenix 5 แล้วเห็นบรรดากิจกรรมที่มันรองรับได้ จากที่แค่ปั่นจักรยานอย่างเดียว คุณจะรู้สึกว่า เฮ้ย! ลองวิ่งบ้างดีกว่า เอ๊ะ! ว่ายน้ำก็น่าสนุก อ๊ะ! วิ่งเทรลก็น่าตื่นเต้น สุดท้ายคุณอาจจะมารู้สึกตัวอีกทีตอนที่กำลังลงแข่งไตรกีฬาก็ได้

ลูกเล่นในความเป็นนาฬิกาสมาร์ทวอท์ชก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนหน้าจอที่มีให้ดาวน์โหลดจาก Store ของ IQ Connect หรือจะหารูปมาทำเองผ่านแอพ Face It ก็ทำได้ง่าย มีโหลดแอพพลิเคชั่น, วิดเจ็ท และดาต้าฟิลด์เพื่อใช้เสริมการใช้งานได้หลากหลาย การเชื่อมต่อทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนทำได้ดี การแจ้งเตือนสามารถแสดงผลภาษาไทยได้ ใช้ควบคุมเล่นเพลงในมือถือได้ ฯลฯ และดีไซน์ตัวเรือนที่สวยงาม เปลี่ยนสายได้หลายแบบ ทำให้เราสวมใส่ได้ทุกโอกาสไม่จำเป็นว่าต้องเฉพาะตอนเล่นกีฬาเท่านั้น และสุดท้ายคือความอึดของแบตฯ ที่ใช้ได้นานหลายวัน ไม่ต้องมาลุ้นว่าใช้ๆ อยู่แบตจะหมดกลางคันหรือไม่

รีวิว Garmin Fenix 5

แต่ถึงแม้ว่า Garmin fenix 5 จะทำได้สารพัดอย่างครอบจักรวาล เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนหยุดเอี้ยดคิดก่อนซื้อก็คือเรื่องของราคา เพราะว่า fenix 5 นั้นถือว่าเป็นสินค้านาฬิกาในระดับพรีเมี่ยม ราคานั้นจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยราคาที่ทาง GIS เปิดมาสำหรับประเทศไทยมีดังนี้

  • Garmin fenix 5 และ fenix 5s รุ่นมาตรฐาน ราคา 23,500 บาท
  • Garmin fenix 5 และ fenix 5s รุ่น Sapphire ราคา  25,900 บาท
  • Garmin fenix 5x รุ่น Sapphire ราคา 27,900 บาท

ดังนั้นต้องกลับมาถามตัวของเราเองก่อนว่า ต้องการใช้งานมันคุ้มค่าขนาดไหน ถ้าแบบว่าไลฟ์สไตล์คุณคือนักปั่นที่ลำพังแค่ออกไปปั่นอย่างเดียวก็ไม่เหลือเวลาไปเล่นอย่างอื่นแล้ว ก็คงไม่เหมาะที่จะซื้อมาใช้ แต่ถ้าคุณคิดว่าอยากจะเล่นกีฬาหลายๆ อย่าง และคิดเรื่องพัฒนาการในการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะลดน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อ หรือว่าอยากจะอัพตัวเองไปเล่นกีฬาอื่นๆ นาฬิกามัลติสปอร์ตถือว่าเป็นผู้ช่วยที่น่าสนใจ แล้วยังได้เรื่องของความสวยงาม แถมเป็น Activiity Tracker ด้วย Garmin fenix 5 ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกแบบเจ็บแต่จบทีเดียวไปเลย